กยท. เร่งทำความเข้าใจประกันอุบัติเหตุกลุ่มชาวสวนยาง รีบแจ้ง กยท. ภายใน 15 วัน
กยท. เร่งสร้างความเข้าใจ การทำประกันอุบัติเหตุกลุ่มชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียนกับ กยท. คุ้มครองจริงหากเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ ส่วนเหตุฆาตกรรม/ทำร้ายร่างกาย ต้องไม่ได้มีสาเหตุจากการทะเลาะวิวาทหรือขัดแย้งส่วนตัว พร้อมแจงหากสวนยางเสียหายจากภัยธรรมชาติ ให้รีบประสานเจ้าหน้าที่ กยท. ภายใน15 วัน เพื่อขอรับการช่วยเหลือเยียวยา
นายสุขทัศน์ ต่างวิริยกุล รองผู้ว่าการด้านปฏิบัติการ เปิดเผยว่า กยท. ได้จัดทำประกันอุบัติเหตุกลุ่มให้แก่เกษตรกรชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียนไว้กับ กยท. จำนวนกว่า 1.4 ล้านราย เพื่อเป็นสวัสดิการให้เกษตรกรชาวสวนยางตามมาตรา 49 (5) ของพระราชบัญญัติการยางแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 โดยให้การคุ้มครองกรณีสูญเสียชีวิตหรือบาดเจ็บทุพพลภาพถาวรอย่างสิ้นเชิง ซึ่งมีสาเหตุมาจากอุบัติเหตุ ถูกฆาตกรรมและถูกทำร้ายร่างกาย โดยผู้เสียหายมิได้มีเจตนาให้เกิดขึ้น เพื่อหวังรับเงินเอาประกันภัย หรือการถูกฆาตกรรมที่ไม่ได้มีสาเหตุจากการทะเลาะวิวาทหรือขัดแย้งส่วนตัวมาก่อน ทั้งนี้ ยังคุ้มครองกรณีเกิดอุบัติเหตุจากการขับขี่/โดยสารรถยนต์ สูงสุดรายละ 500,000 บาท และได้ขยายการคุ้มครองกรณีอุบัติเหตุที่เกิดจากการขับขี่/โดยสารรถจักรยานยนต์ สูงสุดรายละ 250,000 บาท โดยจะได้รับสินไหมอุบัติเหตุภายใน 45 วันทำการ นับจากวันที่บริษัทได้รับเอกสารครบถ้วนและถูกต้อง กรณีเสียชีวิตจะได้รับเงินค่าปลงศพ รายละ 30,000 บาท โดยบริษัทประกันจ่ายค่าปลงศพให้ภายใน 15 วันทำการ และ กยท. จะมอบเงินเงินช่วยเหลือให้แก่ทายาท กรณีเกษตรกรชาวสวนยางเสียชีวิตอีกรายละ 3,000 บาท โดยเป็นเงินจากกองทุนพัฒนายางพารา มาตรา 49 (5) เพื่อเป็นสวัสดิการของเกษตรกรชาวสวนยางเพิ่มเติมด้วย
ต้องเน้นย้ำว่า การทำประกันอุบัติเหตุกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางที่ได้ขึ้นทะเบียนกับ กยท. เป็นการคุ้มครองในกรณีเสียชีวิตหรือบาดเจ็บทุพพลภาพถาวรอย่างสิ้นเชิงจากอุบัติเหตุ และจากการฆาตกรรมหรือถูกทำร้ายร่างกายโดยไม่มีเหตุจากการบาดหมางส่วนตัว หรือมึนเมาสุราจนก่อให้เกิดเหตุดังกล่าวซึ่งต่างจากประกันชีวิตทั่วไป”
นายสุขทัศน์ กล่าวเพิ่มเติมในประเด็นการเยียวยาเกษตรกรชาวสวนยางที่ได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติ ว่า เนื่องจากปีนี้ ประเทศไทยเข้าสู่ช่วงฤดูฝนเร็วกว่าปกติ และมีฝนตกหนักประกอบกับมีพายุฤดูร้อนในหลายพื้นที่ หากพี่น้องชาวสวนยางท่านใดที่สวนยางได้รับความเสียหายต้นยางโค่นล้มจนเสียสภาพสวนยางไม่น้อยกว่า 20 ต้นต่อไร่ ในบริเวณที่ได้รับความเสียหาย ให้ถ่ายภาพสวนยางที่ได้รับความเสียหาย และเร่งประสานเจ้าหน้าที่ ของ กยท. เพื่อเข้าตรวจสอบและขอรับความช่วยเหลือจาก กยท. ในพื้นที่ ภายใน 15 วัน สูงสุดรายละไม่เกิน 3,000 บาท
“กยท. มีการจัดสวัสดิการเพื่อเกษตรกร ตาม พ.ร.บ. การยางแห่งประเทศไทย พ.ศ.2558 ซึ่งครอบคลุมทั้งสวนยางพาราและตัวเกษตรกรชาวสวนยางเองด้วย ถือเป็นหน่วยงานเดียวในประเทศที่ให้การดูแลทั้งสวนยางและเจ้าของสวนยาง ทั้งนี้ เกษตรกรชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียนกับ กยท. สามารถตรวจสอบสิทธิ์ประกันอุบัติเหตุกลุ่มได้ทางเว็บไซต์การยางแห่งประเทศไทย www.raot.co.th หรือสอบถามข้อมูลหรือรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กองสวัสดิการเกษตรกร โทร. (02) 433-2222 ต่อ 245 ในวันและเวลาราชการ” รองผู้ว่าการ กล่าวย้